เมื่อวานต้องเสียน้ำตามากมายกับภาพยนตร์ล่าสุดของจางอี้โหมว "The Flowers of War" (2011) ที่สร้างจากนิยายอิงประวัติศาสตร์ของ Geling Yan 《金陵十三钗》หรือ The 13 Women of Nanjing ที่บอกเล่าถึงหนึ่งในเหตุการณ์ที่โหดร้ายที่สุดของประวัติศาสตร์จีน
ภาพยนตร์ของจางอี้โหวไม่ทำให้ผิดหวัง ทั้งภาพและการเล่าเรื่องทำออกมาได้สวยไม่แพ้หนังสงครามของฮอลีวู้ด แต่ภาพยนตร์เอเชียมักถ่ายทอดในแง่มุมที่ลึกซึ้งกินใจมากกว่า เรื่องนี้ก็เช่นกัน
ย้อนกลับไปปี 1937 สมัยที่ญี่ปุ่นเข้ายึดครองนานกิง เกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญผู้คนทั่วโลก ที่รู้จักกันในนาม The Rape Of Nanking หรือ The Nanjing Massacre ทหารญี่ปุ่นเข้ายึดเมือง เข่นฆ่าชาวจีนอย่างโหดร้าย ย่ำยีศักดิ์ศรีของชาวจีนเป็นว่าเล่น และที่สะเทือนใจที่สุดเห็นจะเป็นเหตุการณ์ที่ผู้หญิงชาวจีน ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ สาวหรือแก่ ชาวบ้าน ครู หรือแม่ชี แม้แต่หญิงท้องก็ถูกทหารญี่ปุ่นรุมกระทำชำเรา ข่มขืนแล้วฆ่าทิ้งอย่างทารุณ
ภาพยนตร์เรื่องนี้เปิดฉากที่เด็กสาวกลุ่มหนึ่งพากันวิ่งหนีทหารเพื่อกลับเข้าโบสถ์ กลุ่มทหารที่สละชีพเพื่อปกป้องคนในชาติ สัีปเหร่อขี้เมาอเมริกันที่เดินทางมาฝังศพนักบุญ และกลุ่มหญิงงามกลางเมืองที่หนีเข้ามาพึ่งใบบุญของศาสนจักร
โบสถ์...สถานที่ที่น่าจะศักดิ์สิทธิ์และปลอดภัย
ทว่าในยามที่เกิดภาวะสงครามและท่ามกลางความโหดร้าย ไม่มีสถานที่ไหนปลอดภัยอย่างแท้จริง
และเมื่อชายขี้เมาที่จับพลัดจับผลูต้องกลายมาเป็นนักบวช หญิงกลางเมือง เด็กสาวไร้เดียงสาจำต้องมาอยู่ภายใต้หลังคาเดียวกัน เผชิญกับศัตรูกลุ่มเดียวกัน ภาพยนตร์เรื่องนี้สอนให้เรารู้ซึ้งถึงคำว่า สถานการณ์สร้างวีรบุรษและวีรสตรีอย่างแท้จริง คุณค่าของคนไม่ได้วัดจากวัยหรืออาชีพ แต่จากความเสียสละตัวเองเพื่อให้ผู้อื่นรอด
เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่แสนเศร้าอย่างน่าประทับใจ และย้ำให้รู้ว่า ไม่ว่าชีวิตจะผ่านมรสุมอะไรมา หรือชีวิตจะปลุกปั้นให้เรากลายเป็นคนแบบไหน แต่ลึกๆ แล้ว เมล็ดพันธุ์ความดีที่อยู่ในจิตสำนึกของมนุษย์จะแตกหน่อและผลิบานได้ แม้จะแค่ช่วงเวลาสั้นๆ ก็ตาม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น