หลายคนคงตะลึงกับข่าวนักเขียนเศรษฐี Robert Kiyosaki เจ้าของผลงานชื่อดัง "Rich Dad, Poor Dad" หรือบ้านเรารู้จักกันดีในชื่อ "พ่อรวยสอนลูก" ยื่นขอล้มละลาย (แต่บางคนกลับเขียนว่าเขาถูกฟ้องล้มละลาย) และต่างพากันงงว่าโลกเป็นอะไรไปแล้ว รวยล้นฟ้าขนาดนั้นร่วงได้ไง
ที่จริงถ้าได้อ่านเนื้อข่าวก็จะไม่ตกอกตกใจเลย เพราะไม่ใช่ตัวเฮียแกสักหน่อยที่ล้ม แต่เป็น Rich Global LLC หนึ่งในบริษัทของแกต่างหาก และถึงบริษัทฯ นี้จะล้มละลาย ตัวแกก็ไม่สะเทือนเลย
เวลาเป็นหนี้มากๆ (และไม่อยากจ่าย) นักธุรกิจมะกันมักใช้กลยุทธ์ "ยื่นล้มละลาย" เพื่อเคลียร์หนี้กันทั้งนั้น นักธุรกิจคนดังที่เชี่ยวชาญกลยุทธ์นี้ เห็นทีจะไม่มีใครเกินอภิมหาเศรษฐี เจ้าพ่ออสังหาริมทรัพย์ Donald Trump เฮียคิโยซากิเองก็เคยสนิทกับเฮียทรัมป์ ทั้งออกหนังสือด้วยกัน ทำธุรกิจด้วยกัน ก็คงจะได้เรียนรู้เทคนิคนี้จากเฮียทรัมป์มาบ้าง
เฮียทรัมป์ใช้กลยุทธ์นี้โละหนี้เก่าจำนวนมหาศาลมาแล้วถึง 4 ครั้ง แล้วดูสิ ทุกวันนี้ เฮียแกก็ยังฟื้นกลับมาเป็นอภิมหาเศรษฐีได้ทุกครั้ง ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพราะกฎหมายมะกันเปิดช่องให้คุณ "ล้มบนฟูก" ได้น่ะสิ
กฎหมายล้มละลายของอเมริกามีเป้าหมายหลักเพื่อให้ลูกหนี้ตั้งต้นใหม่ได้ ด้วยการปลดพันธะหนี้ที่จ่ายไม่ไหวได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย แถมป้องกันไม่ให้ถูกเจ้าหนี้คุกคามโดยมิชอบ เงินและทรัพย์สินที่มีก็เอามาจัดสรรให้เหมาะสม แบ่งให้เจ้าหนี้ทุกรายเท่าๆ กันอย่างรวดเร็ว เจ้าหนี้-ลูกหนี้ก็ไม่ต้องเกลียดขี้หน้ากัน วันดีคืนดีก็หันมาทำเซ็งลี้กันต่อได้
ในอเมริกา กฎหมายล้มละลายแบ่งออกเป็น 3 มาตราด้วยกันคือ Chapter 7, 11, 13 ที่เฮียโรเบิร์ตแกใช้คือ มาตรา 7 ซึ่งเป็นกระบวนการง่ายที่สุด แค่ขายทรัพย์สินนำมาแบ่งเฉลี่ยให้เจ้าหนี้อย่างเท่าเทียม ถ้าเป็นบุคคลก็ให้ขายทุกอย่าง ยกเว้นบ้าน แถมเจ้าของบ้านยังมีสิทธิหักเงินส่วนหนึ่งไว้เป็นค่าดำรงชีพได้อีกต่างหาก และถ้าขายทรัพย์สินแล้วได้เงินมากกว่ายอดหนี้ที่เป็นอยู่ เงินที่เหลือก็ต้องคืนให้ลูกหนี้ซะ
Chapter 11 ขอฟื้นฟูกิจการ เป็นมาตราที่บริษัทยักษ์ใหญ่ใช้กันเยอะ เพราะมาตรานี้บอกให้เจ้าหนี้ "หยุด" ทุกอย่าง หยุดทวงหนี้ หยุดคิดดอก ห้ามยึดทรัพย์ ห้ามบังคับขายทรัพย์สิน ลูกหนี้ก็ต้องหยุดด้วย เพื่อกระบวนการฟื้นฟูกิจการ หรือขายทรัพย์สินนำมาแบ่งเฉลี่ยจ่ายเจ้าหนี้แต่ละรายจะได้เริ่มต้นขึ้น
Chapter 13 เป็นมาตราสำหรับบุคคลธรรมดาที่มีหนี้เกินตัว แต่ไม่เกิน 1 แสน หรือ 3 แสน 5 หมื่นเหรียญกรณีที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เช่น บ้าน ซึ่งมาตรานี้ ลูกหนี้จะมีเวลาผ่อนชำระหนี้ 3-5 ปีโดยคำนวณจากรายได้ในปัจจุบัน หลังจากนั้น หนี้ที่เหลือก็ถือเป็นอันหายกัน ง่ายดีเนอะ มาใช้บ้านเรามีหวัง...
ที่เขาทำแบบนี้ก็เพราะจะได้เปิดโอกาสให้คนที่มีหนี้ได้ตั้งต้นชีวิตใหม่ สอดคล้องกับหลักศาสนาคริสต์ ทุกคนจะได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ที่เป็นอิสระทางการเงิน
กลับมาที่กรณีของเฮียโรเบิร์ต บริษัทที่เขายื่นล้มละลายมีทรัพย์สินเหลืออยู่แค่ไม่กี่ล้าน ในขณะที่เจ้าหนี้จ่อฟ้องยี่สิบกว่าล้าน นายไมค์ CEO บริษัทหนึ่งของเฮียโรเบิร์ตก็บอกง่ายๆ ว่า เฮียเขาไม่เพิ่มทุนแล้ว ไม่รู้จะเอาปัญญาหาเงินจากที่ไหนมาจ่าย เออ...ถ้าบ้านเราอาจมีการยิงกันเกิดขึ้นได้
สรุปแล้ว เฮียโรเบิร์ตก็เลยขอใช้มาตรา 7 ยื่นให้บริษัทฯ ล้มละลาย เจ้าหนี้ก็ได้เงินเท่าที่มีอยู่ บริษัทเป็นอันปิดกิจการ คดีก็จบ กฎหมายก็ไม่ได้บังคับให้เฮียโรเบิร์ตต้องควักกระเป๋าส่วนตัวมาจ่ายด้วย
เฮียทรัมป์ เจ้าพ่อ bankruptcy เคยให้สัมภาษณ์ในรายการ ABC News ว่า "ผมใช้กฎหมายของประเทศนี้เพื่อปลดหนี้" และคำว่า "ล้มละลาย" ของเขาก็ไม่ได้ฟังดูน่ากลัว ดูจนตรอกอย่างบ้านเรา ถ้าจะใช้คำสวยหรูขึ้นมาหน่อยก็คือ "ปรับโครงสร้างหนี้" และใช้กันทุกวงการ ไม่ใช่แค่ในโลกธุรกิจเท่านั้น
นี่แหละนะ เศรษฐีมะกันถึงล้มบนฟูกกันเป็นแถว