วันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ธรรมะกับงานครัว

ฉันเคยคิดว่า การศึกษาธรรมสามารถทำได้ด้วยการอ่านและทำความเข้าใจ แต่ฟังจากกูรูผู้รู้หลายคนแล้ว ทุกท่านต่างยืนยันว่า เราไม่สามารถเข้าถึงธรรมได้ด้วยการอ่าน หรือทำความเข้าใจกับพระธรรมคำสอนเพียงอย่างเดียว พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้ "คิด" แต่สอนให้ "สังเกตรู้" สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันขณะ ซึ่งลำพังการอ่านเพียงอย่างเดียว ไม่อาจทำให้เราเข้าใจอย่างลึกซึ้งได้ ต้องลงมือปฏิบัติถึงจะ "เข้าถึง" ประสบการณ์ตรงเท่านั้นที่จะบอกเราได้

ทำให้นึกไปถึงงานครัว เราอาจรู้จักอุปกรณ์เครื่องใช้ทุกอย่าง รู้จักเครื่องปรุงทุกชนิด ศึกษาสูตรอาหารมากมายจนแทบจำได้ขึ้นใจว่า เมนูไหนต้องใช้อะไรยังไงเท่าไหร่ ต้องปรุงยังไง ใช้เวลาแค่ไหน ฯลฯ แต่หากเราไม่เคยเข้าครัวลงมือทำจริงๆ แล้ว เราไม่อาจรู้ได้เลยว่า อาหารจานนั้นจะออกมากินได้และอร่อยหรือเปล่า

การปฏิบัติธรรมก็เช่นกัน เราอาจศึกษาเรียนรู้ธรรมะเรื่องนั้นเรื่องนี้ ท่องได้หมด ยกมาได้เป็นบทๆ แต่หากไม่มีการนำมาประยุกต์ใช้ เราคงยืนยันไม่ได้เต็มร้อยว่า มันเป็นเช่นนั้น หรือเป็นอย่างที่เราคิดจริงหรือเปล่า

การปฏิบัติธรรมไม่ได้หมายถึงว่า คุณจะต้องนุ่งขาวห่มขาว นั่งสมาธิ เดินจงกลม ถือศีลห้า ศีลแปด ไม่ต้องไปเข้าคอร์ส 7 วัน 10 วันอย่างที่ในปัจจุบันมีให้เลือกมากมาย เพราะธรรมะคือธรรมชาติ ธรรมะคือวิถี ธรรมะคือ The Way of Life ฉะนั้น การปฏิบัติธรรมหมายถึง การนำพระธรรมคำสอนมาใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งทางกาย วาจา ใจ

อาหารจานเดียวกัน สูตรเดียวกัน ใช้เครื่องปรุงเหมือนกัน วิธีการปรุงแบบเดียวกัน แต่แม่ครัวแต่ละคนอาจประกอบหรือปรุงออกมาได้รสต่างกันก็ได้ ธรรมะก็เช่นกัน ทุกคนรู้จักไตรลักษณ์ รู้จักวิธีวิปัสสนา ศีลห้า ศีลแปด ขันธ์ห้า พรหมวิหารสี่ โอย ท่องได้หมด ทว่าแต่ละคนนำมาปฏิบัติได้ผลเท่ากันมั้ย คำตอบคือไม่ค่ะ

บางคนอาจปฏิบัติแล้วได้ผลเร็ว บางคนอาจปฏิบัติมาเป็นแรมปี แต่ไม่เห็นผลสักที แต่อย่าลืมว่า Practice makes perfect. ยิ่งปฏิบัติมากย่อมก่อให้เกิดความคล่องแคล่วชำนาญ หมั่นฝึกฝนจน "เป็น" ธรรมชาติ

พูดไปก็เหมือนเดิมค่ะ ฉันว่าเรามาเริ่มปฏิบัติกันดีกว่า :)

ไม่มีความคิดเห็น: