วันพฤหัสบดีที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2555

Blue Moon

วันก่อนเสนอคำว่า "White Lie" ไปแล้ว และเซ็งทุกครั้งที่ได้ยินคำว่า "โกหกสีขาว" วันนี้เลยนึกถึงปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นวันนี้ วันที่ 31 สิงหา ที่เรียกว่า "Blue Moon" หรือพระจันทร์สีน้ำเงิน แต่อย่าคิดว่าพระจันทร์จะเปลี่ยนสีเป็นสีน้ำเงินเชียวนะคะ ไม่มีทาง! ที่มันได้ชื่ออย่างนั้นก็เพราะ ฝรั่งตั้งชื่อให้มันต่างจากวันเพ็ญพระจันทร์เต็มดวง หรือ Full Moon ปกติเท่านั้นเอง

โดยส่วนใหญ่แล้ว ปีหนึ่งจะมีวันพระจันทร์เต็มดวง 12 ครั้ง เฉลี่ยเดือนละครั้ง แต่นานๆ ทีจะมีบางเดือนที่พระจันทร์จะเต็มดวงสองครั้ง และวันที่แถมขึ้นมานั่นล่ะค่ะที่เรียกว่า blue moon

แล้วจะรู้ได้ไงว่ามันจะเกิดปรากฏการณ์นี้เมื่อไหร่ เรื่องแบบนี้พวกนักดาราศาสตร์เขาคำนวณกันได้ค่ะ เพราะพระจันทร์จะเต็มดวงทุกๆ 29.53059 วัน และทุกหนึ่งร้อยปี (1200 เดือน) จะมีพระจันทร์เต็มดวง 1236.83 ครั้ง ถือเป็น blue moon 36.83 ครั้ง หรือพูดง่ายๆ ว่าทุก 2.72 ปีเกิดที

แถมเท่กว่านั้นคือ ทุก 19 ปีจะมีการเกิดบลูมูนปีละ 2 ครั้ง Blue Moon ที่เกิดซ้อนกันในหนึ่งปี เขาเรียกว่า Double Blue Moons (จำง่ายดีเนอะ) ล่าสุดเกิดไปแล้วเมื่อปี 2542 +19 เข้าไป คราวต่อไปก็ 2561 อีกแค่หกปีเอง

แต่ก่อนจะถึง Double Blue Moons ในอีกหกปีข้างหน้า เรากลับมาที่ Blue Moon กันก่อน เพราะวันนี้ล่ะค่ะ (31/8/2012) เราจะได้เห็นวันเพ็ญรอบสองของเดือนสิงหาคม ที่คาดว่าจะเต็มดวงเต็มที่เวลา 20.57 น. คืนนี้ก็อย่าลืมเงยหน้าชมจันทร์กันหน่อยนะคะ

ด้วยความที่มันเป็นสิ่งที่นานๆ เกิดขึ้นที เขาถึงมีสำนวนภาษาอังกฤษว่า "once in a blue moon" เพื่อสื่อให้เห็นสิ่งที่นานๆ จะเกิดขึ้นสักที (แต่ไม่รู้ว่าถ้าหายากๆๆๆๆๆๆๆๆ จะใช้คำว่า once in double blue moons หรือเปล่า อุอุ) แต่ยังไงก็เถอะ ถึงบางสิ่งจะเกิดขึ้นยากเย็นเต็มที แต่ไม่ได้แปลว่าจะเป็นไปไม่ได้นี่ จริงมั้ยคะ

ปิดท้ายที่คำไทยของคำว่า Blue Moon ค่ะ ถ้าแปลเป็นไทยตรงตัวจะเรียกว่าพระจันทร์สีน้ำเงิน แต่ราชบัณฑิตยสถานของเรา (หรือเปล่าไม่แน่ใจ) ก็ช่างสรรหาคำมาบัญญัติให้เราต้องแปลไทยเป็นไทยสองสามตลบทุกที คำทางการของปรากฏการณ์นี้เรียกว่า "ทุติยเพ็ญ" เดาว่าคงมาจาก ทุติย (ที่สอง) + (วัน) เพ็ญ ก็ถือว่าตรงกับความหมายของปรากฏการณ์มากทีเดียว แต่เวลาคนทั่วไปได้ยินจะเข้าใจมั้ยเนี่ย อิอิ

ปล. อย่าลืมแหงนหน้าชมจันทร์คืนนี้กันนะคะ ^ ^

ไม่มีความคิดเห็น: